โขน ความหมาย คือการแสดงท่ารำเต้นออกท่าเข้ากับดนตรี โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงมีลักษณะเด่นคือ สวมศีรษะจำลองครอบหน้าเรียกว่าหัวโขน ดำเนินเรื่องโดยการพากย์และเจรจา ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบยืนเครื่องและตามลักษณะของ
ละคร ตัวละครในการแสดงโขนได้แก่ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง และตัวละครที่เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น กวาง นก ยุงม้า ช้าง ฯลฯ
กำเนิดโขน โขนมาจากการนำศิลปะการแสดง 3 แบบ มาผสมผสานกันได้แก่
1. การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพิธีอินทราภิเษก ได้แก่ การแสดงที่แบ่งผู้แสดงออกเป็นฝ่ายอสูรกับฝ่ายเทวดาต่อสู้กันและผลสุดท้ายฝ่ายอสูรก็พ่ายแพ้ โขนได้นำวิธีการแต่งกายมาใช้ในการแสดงโดยแยกออกเป็นฝ่ายเทวดาและฝ่ายยักษ์หรืออสูร
2. โขนมาจากการแสดงหนังใหญ่ หนังใหญ่เป็นศิลปะแห่งการพากย์-เจรจา รวมทั้งท่าเต้นของคนเชิดหนัง โขนได้นำวิธีการพากย์-เจรจา การบรรเลงเพลงปี่พาทย์ ตลอดจนท่าเต้นของผู้เชิดหนัง มาใช้ในการแสดง
3.โขน มาจากศิลปะการต่อสู้กระบี่กระบอง โดยนำเอาศิลปะการต่อสู้มาเป็นแบบอย่างในการแสดงโขน
ประเภทของโขน
โขนแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ โขนกลางแปลง โขนนั่งราวหรือโขนโรงนอก โขนโรงใน โขนหน้าจอและโขนฉาก
1. โขนกลางแปลง คือการแสดงโขนบนพื้นสนาม ไม่มีเวทีเหมาะกับการแสดงที่ใช้บริเวณกว้างๆใช้ธรรมชาติเป็นฉาก บรรยายเรื่องด้วยการพากย์-เจรจา ไม่มีขับร้อง ดนตรีใช้วงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วย ปี่ ระนาดเอก ฆ้องววง ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง การแสดงโขนกลางแปลงใช้ดนตรี 2 วง อยู่ทางซ้ายและขวาของสนาม ผลัดกันบรรเลง เรื่องที่แสดงคือเรื่อง รามเกียรติ์นิยมนำตอนยกทัพจับศึกมาแสดง
2. โขนนั่งราวหรือโขนโรงนอก คือการยกโขนกลางแปลงมาใช้ในเวทีที่มีอาณาบริเวณจำกัด มีราวพาดให้ตัวละครนั่งแทนเตียง มีฉากประกอบ มีร้านเล็กๆยกพื้นขึ้นสูงกว่าเวทีอยู่ข้างซ้ายและขวาของเวทีสำหรับตั้งวงปี่พาทย์ 2 วง การแสดงใช้บทพากย์และเจรจาเหมือนเดิม บางครั้งเล่นเพิ่มเติมโดยแสดงเกริ่นไว้ แล้วนอนค้างที่โรงโขน 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงแสดง เรียกกันว่าโขนนอนโรง
3. โขนโรงใน ปรับปรุงตามอย่างละครใน มีวิธีการเล่น บทพากย์-เจรจา การแต่งกาย ศิลปการร่ายรำประณีตงดงาม เพิ่มเพลงร้องไพเราะ มีระบำรำฟ้อนแบบละครในแทรกไว้ด้วย มีเตียงให้ผู้แสดงนั่งแทนราว ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ 2 วงตั้งอยู่ด้านซ้ายและขวาของเวที และยกพื้นของเวทีสำหรับบรรเลงดนตรีให้ได้ระดับกับเวทีแสดง
4. โขนหน้าจอ คือการแสดงที่เปลี่ยนลักษณะโรงแสดงโขนไปเป็นโรงแสดงหนังใหญ่ ลดวงปี่พาทย์บรรเลงลงเหลือเพียงวงเดียวและตั้งอยู่หน้าโรง หันไปทางผู้แสดงเพื่อสะดวกในการบอกหน้าพาทย์ หรือบอกปี่พาทย์ให้บรรเลงรับอย่างหนังใหญ่
5. โขนฉาก คือการแสดงโขนที่สร้างฉากประกอบเนื้อเรื่อง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ผู้ริเริ่มคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ วิธีแสดง แบ่งฉากเล่นเหมือนละครดึกดำบรรพ์ สร้งฉากวิจิตรงดงามตระการตา แต่วิธีแสดงเป็นแบบโขนโรงใน มีบทร้อง มีกระบวนท่าเต้น มีการบรรเลงหน้าพาทย์ตามแบบละครใน
ลักษณะคำประพันธ์ในการแสดงโขน ใช้กลอนแปดหรือกลอนบทละคร ร่ายยาว คำพากย์ใช้กาพย์ยานี และกาพย์ฉบัง16 เล่นเรื่องรามเกียรติ์ นิยมบทพระราชนิพันธ์ในรัชกาลที่2 เพราะเหมาะกับการแสดงโขนที่สุด
ชนิดของบทพากย์โขนแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่
1.พากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา
2.พากย์รถ
3.พากย์ชมดง
4.พากย์โอ้
5.พากย์บรรยายหรือรำพัน
6.พากย์เบ็ดเตล็ด ใช้ในโอกาสทั่วๆไป อันเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่เข้าประเภทใด
โอกาสที่แสดงโขน โขนแสดงได้หลายโอกาสดังนี้
1. แสดงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและงานหลวง
2. แสดงในงานมงคลสมโภช
3. แสดงในงานศพเพื่อเป็นมหรสพบูชา
4. แสดงเพื่อความบันเทิงของพระมหากษัตริย์และบำรุงศิลปะ
5. แสดงเพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะหรือแขกบ้านแขกเมือง
6. สืบสานมรดกของชาติและเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ
เรื่องที่ใช้แสดงโขน คือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเรื่องรามยณะของอินเดีย นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ในบทพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่2 เพราะกระชับรวดเร็วไม่เยิ่นเย้อ
โขน พระรามรบกับทศกัณฐ์ |
โขน เรื่อง รามเกียรติ์ |
การแต่งกายยืนเครื่อง ตัวพระ ตัวนาง |
ชอบชุดแต่งกายของตัวโขน และท่าทางการแสดง
ตอบลบด.ญ.เสาวลักษม์ พัฒน์แก้ว เลขที่ 46 ม.2/8