วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

211 ที่มาของนาฏศิลปไทย

-นาฏศิลป์ หมายความว่า ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรํา
-นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรำ
-นาฏศิลป์ หมายถึง ความช่ำชองในการละครฟ้อนรำ
-นาฏศิลป์ หมายถึง การร้องรำทำเพลง ให้เกิดความบันเทิงใจ อันประกอบด้วยความโน้มเอียง และความรู้สึก ส่วนสำคัญส่วนใหญ่ของนาฏศิลป์อยู่ที่การละครเป็นเอก หากแต่ศิลปะประเภทนี้จำต้องอาศัยดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณค่าในศิลปะยิ่งขึ้นตามสภาพหรืออารมณ์ต่างๆกัน สุดแต่จุดมุ่งหมาย
-นาฏศิลป์ หมายถึง การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากธรรมชาติด้วยความประณีตอันลึกซึ้ง เพรียบพร้อมไปด้วยความวิจิตรบรรจงอันละเอียดอ่อน นอกจากหมายถึงการฟ้อนรำ ระรำเต้นแล้ว ยังหมายถึงการร้อง และการบรรเลงด้วย
-นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะในการฟ้อนรำหรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความงดงามมีแบบแผน ให้ความบันเทิงอันโน้มน้าวอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น แต่ความหมายที่เข้าใจทั่วไป คือ ศิลปะของการร้องรำทำเพลง

นาฏศิลป์เป็นศิลปะ
ศิลปะ ได้แก่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในเมื่อธรรมชาติไม่สามารถอำนวยให้ แต่ต้องสร้างให้ประณีตงดงามและสมบูรณ์ ศิลปะเกิดขึ้นด้วยทักษะ (skill) คือความชำนาญในการปฏิบัติ
นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะของการฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น จากลีลาที่เป็นธรรมชาติ ด้วยความประณีตงดงาม เพื่อให้ความบันเทิง ให้ผู้ที่ได้ดูมีความรู้สึกคล้อยตาม การร่ายรำนี้ต้องอาศัยเครื่องดนตรีและการขับร้องการแสดง เช่น ฟ้อนรำ ระบำ โขน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่
นาฏศิลป์ไทยแสดงเอกลักษณ์
การฟ้อนรำของไทยนั้นมีลักษณะเฉพาะตัว และมีความเป็นไทยในตัวเองอย่างยิ่ง จริงอยู่ที่เราได้แบบอย่างบางส่วนมาจากนาฏศิลป์อินเดียบ้าง แต่เราก็ได้นำมาดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย และสามารถคิดค้นสร้างสรรค์แบบอย่างของไทยเราเองได้มากมาย จึงกลายเป็นศิลปะประจำชาติ ซึ่งไม่เหมือนกับกับศิลปะของชาติอื่นๆ นับได้ว่าเป็นสมบัติอันเป็นวัฒนธรรมของชาติที่น่าภูมิใจยิ่ง นาฏศิลป์ไทยจึงมีเอกลักษณ์ในตัวเองดังนี้คือ

ท่ารำอ่อนช้อยงดงาม และแสดงอารมณ์ตามลักษณะ หรือรำกับเพลงที่มีแต่ทำนองก็ได้ มีความหมายอย่างกว้างขวาง

จะต้องมีดนตรีประกอบ ดนตรีนี้จะแทรกอารมณ์ หรือกำกับเพลงที่มีแต่ทำนองก็ได้ หรือมีเนื้อร้องและให้ท่าไปตามเนื้อร้องนั้นๆ

คำร้องหรือทำนองจะต้องเป็นคำประพันธ์ ส่วนมากบทร้องมักจะเป็นกลอนแปด ซึ่งจะนำไปร้องกับเพลงชั้นเดียวหรือสองชั้นได้ทุกเพลง คำร้องนี้ทำให้ผู้สอนหรือผู้รำกำหนดท่าไปตามเนื้อร้อง

เครื่องแต่งกายละครไทย ซึ่งผิดกับเครื่องแต่งกายละครของชาติอื่นๆ มีแบบอย่างของตน โดยเฉพาะขนาดยืดหยุ่นได้ตามสมควร เพราะการสวมจะใช้กลึงด้วยด้ายแทนที่จะเย็บสำเร็จรูป การแต่งกายของละครไทยอาจจะคล้ายคลึงของเขมร เพราะเขมรได้แบบอย่างจากไทยไป
รวมความว่า นาฏศิลป์มีความสำคัญเป็นพิเศษอยู่ในตัวนานาประการ เพราะเป็นที่รวมของศิลปะทุกๆ ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน ในอันที่จะสร้างความเป็นแก่นสารให้แก่บ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นาฏศิลป์ไทย ยังได้รับอิทธิพลแบบแผนตามแนวคิดจากต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย เช่น วัฒนธรรมอินเดียเกี่ยวกับวัฒนกรรมที่เป็นเรื่องของเทพเจ้า และตำนานการฟ้อนรำ โดยผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ผ่านชนชาติชวาและเขมร ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงให้เป็นรูปแบบตามเอกลักษณ์ของไทย เช่น ตัวอย่างของเทวรูปศิวะปางนาฏราช ที่สร้างเป็นท่าการร่ายรำของ พระอิศวร ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐๘ ท่า หรือ ๑๐๘ กรณะ โดยทรงฟ้อนรำครั้งแรกในโลก ณ ตำบล จิทรัมพรัม เมืองมัทราส อินเดียใต้ ปัจจุบันอยู่ในรัฐทมิฬนาดู นับเป็นคัมภีร์สำหรับการฟ้อนรำ แต่งโดยพระภรตมุนี เรียกว่า คัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ ถือเป็นอิทธิพลสำคัญต่อแบบแผนการสืบสาน และการถ่ายทอดนาฏศิลป์ของไทยจนเกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มีรูปแบบ แบบแผนการเรียน การฝึกหัด จารีต ขนบธรรมเนียม มาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาของนาฏศิลป์ไทยเข้าใจว่าเกิดจากสภาพความเป็นอยู่โดยธรรมชาติของมนุษย์โลกที่มีความสงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ในทางโภชนาหาร มีความพร้อมในการแสดงความยินดี จึงปรากฏออกมาในรูปแบบของการแสดงอาการที่บ่งบอกถึงความกำหนัดรู้ ดังนั้นเมื่อประมวลที่นักวิชาการเทียบอ้างตามแนวคิดและทฤษฎี จึงพบว่าที่มาของนาฏศิลป์ไทยเกิดจากแหล่ง ๓ แหล่ง คือ เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ เกิดจากการเซ่นสรวงบูชา และเกิดจากการรับอารยะธรรมของประเทศอินเดีย ดังนี้

๑. เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ หมายถึง เกิดตามพัฒนาการของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชน ซึ่งพอประมวลความแบ่งเป็นขั้น ได้ ๓ ขั้น ดังนี้

ขั้นต้น เกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แสดงออกมาให้เห็นปรากฏ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้ ดิ้นรน

ขั้นต่อมา เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็ใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย ให้ผู้อื่นรู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก เป็นต้น

ต่อมาอีกขั้นหนึ่งนั้น เมื่อเกิดปรากฏการณ์ตามที่กล่าวในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ แล้วมีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงาม จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน จนเกิดเป็นวิวัฒนาการของนาฏศิลป์ที่สวยงามตามที่เห็นในปัจจุบัน

๒. เกิดจากการเซ่นสรวงบูชา หมายถึง กระบวนการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชน ซึ่งพบว่าการเซ่นสรวงบูชา มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชา มีวิธีการตามแต่จะยึดถือมักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป

๓. การรับอารยะธรรมของอินเดีย หมายถึง อิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านจากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ยาวนานว่า เมื่อไทยมาอยู่ในสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น มีชนชาติมอญ และชาติขอมเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ชาติทั้งสองนั้นได้รับอารยะธรรมของอินเดียไว้มากมายเป็นเวลานาน เมื่อไทยมาอยู่ในระหว่างชนชาติทั้งสองนี้ ก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ไทยจึงพลอยได้รับอารยะธรรมอินเดียไว้หลายด้าน เช่น ภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปะการแสดง ได้แก่ ระบำ ละครและโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์มาตรฐานที่สวยงามดังปรากฏให้เห็นนี้เอง

นอกจากนี้แล้วการสร้างนาฏศิลป์ไทยของเรานี้อาจด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น

๑. จัดทำขึ้นเพื่อการสื่อสาร หมายความถึง การแสดงนั้นอาจบ่งบอกชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ที่ดี ทั้งทางด้านการแต่งกาย ภาษา ท่วงทีที่แช่มช้อย นอกจากนี้แล้วในการสื่อสารอีกทางนั้นคือนาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่าย และเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า "ภาษาท่ารำ" โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆ ว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร เป็นต้น

๒. เพื่อประกอบพิธีกรรม ดังที่ได้กล่าวอ้างเรื่องการเซ่นสรวงไปแล้วในเบื้องต้น ว่ากระบวนทัศน์ในเรื่องการฟ้อนรำนั้นกระแสสำคัญอีกกระแสหนึ่ง คือเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งที่มองไม่เห็น นอกจากนี้แล้วอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของคนไทยอีกประการนั้นคือ การสำนึกกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือบรรพชนที่ควรเคารพ อาจมีการจัดกิจกรรมขึ้นแล้วมีการร่วมแสดงความยินดีให้ปรากฏนักนาฏศิลป์หรือศิลปินที่มีความชำนาญการจะประดิษฐ์รูปแบบการแสดงเข้าร่วมเพื่อความบันเทิงและเพื่อแสดงออกซึ่งความรักและเคารพในโอกาสพิธีกรรมต่างๆ ก็ได้

๓. เพื่องานพิธีการที่สำคัญ กล่าวคือเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมเยือน ทั้งนี้เราจะเห็นว่าในประวัติของชุดการแสดง ๆ ชุด เช่น ระบำกฤดาภินิหาร การเต้นรองเง็ง หรืออื่นๆ การจัดชุดการแสดงส่วนใหญ่นั้นจัดเพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญ เพื่อบ่งบอกความยิ่งใหญ่ของความเป็นอารยะชนคนไทย ที่มีความสงบสุขมาเป็นเวลาหลายปี แล้วเรามีความเป็นเอกลักษณ์ภายใต้การปกครองที่ดีงามมาแต่อดีต ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการแสดงในครั้งนี้อาจมีอย่างหลากหลาย เพื่อเป็นสิริมงคลด้วยก็ได้

๔. เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์ ตามนัยที่กล่าวนี้พบว่าในเทศกาลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประเพณีของคนไทยมีมากมาย เช่น งานปีใหม่ ตรุษสงกรานต์ ลอยกระทง วันสาร์ท เป็นต้น เมื่อรวมความแล้วเราพบว่ากิจกรรมที่หลากหลายนี้มีบางส่วนปรากฏเป็นความบันเทิงมีความสนุกสนานรื่นเริง เช่น อาจมีการรำวงของหนุ่มสาว หรือความบันเทิงอื่น ๆ บนเวทีการแสดง นอกจากนี้อาจรวมถึงการออกกำลังกายในสถานการณ์ต่าง ๆ เราพบว่าปัจจุบันนี้จากประสบการณ์จัดกิจกรรมมักเกิดเป็นรูปแบบการแสดงที่สวยงามตามมาด้วยเช่นเดียวกัน

๕. เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดง และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น