วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

216 แนวคิดการประดิษฐ์ท่ารำของผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์เฉลย ศุขะวณิช

แนวคิดของอาจารย์เฉลย ศุขะวณิช ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงและผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยได้กล่าวถึงการคิดประดิษฐ์ท่ารำพอสรุปได้ว่า เป็นลักษณะของการตีบท หรือใช้ภาษานาฏศิลป์ในท่ารำของไทย ที่เป็นแบบแผนมาแต่ดั่งเดิม ก็คือ กลอนตำรารำ และบทรำเพลงช้า เพลงเร็ว จะมีท่าบังคับและท่าตายโดยใช้กลวิธีที่จะประดิษฐ์ให้ได้ท่ารำที่เหมาะสมสวยงาม ผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. จังหวะและทำนองเพลง เชื่องช้า หรือรวดเร็ว มีลักษณะอ่อนหวาน เศร้าหรือคึกคักสนุกสนาน
2. จังหวะและทำนองของเพลงที่มีสำเนียงต่างชาติ ก็ต้องเอาลีลาท่ารำของชาตินั้น ๆ มาประดิษฐ์ให้กลมกลืนกันเป็นลีลาของนาฏศิลป์ไทย
3. เมื่อรู้ทำนองและจังหวะเพลงจึงกำหนดท่ารำให้เข้ากับลีลาของเพลง โดยยึดหลักความสัมพันธ์ของทำนองเพลงกับท่ารำ และความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของบทร้องกับท่ารำ
4. ลักษณะเพศชาย (ตัวพระ) หรือเพศหญิง (ตัวนาง) เช่น ตัวพระในพม่ารำขวานลีลาท่ารำจะต้องมีลักษณะกระฉับกระเฉงเข้มแข็งตามถ่วงทำนองของนักรบ ส่วนตัวนาง ได้แก่ ฟ้อนม่านมงคลลีลาท่ารำจะต้องมีลักษณะอ่อนโยน นุ่มนวล เป็นต้น
5. การประดิษฐ์ระบำพื้นเมือง ต้องศึกษาท่ารำที่เป็นแม่ท่าหลักของท้องถิ่น แล้วนำมาประดิษฐ์ลีลาเชื่อมท่ารำ ให้ครอบคลุมความหมายของเนื้อหาในระบำชุดนั้น ๆ โดยคัดเลือกแม่ท่าหลักให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้เริ่มต้นในท่าที่ 1 ของแม่ท่าเสมอไป อาจจะหยิบแม่ท่าหลักในท่าที่ 8 มาใช้เป็นท่าเริ่มต้นในผลงานการประดิษฐ์ท่ารำของเราก็ได้
6. ไม่ควรไปลอกเลียนแบบลีลาท่ารำของภาคอื่น ๆ มาปะปนในผลงานการประดิษฐ์ท่ารำ เช่น นำเอาท่าทอผ้าในเซิ้งต่ำหูกผูกขิดบางท่ามาใส่ในทอเสื่อ หรือ ไปนำเอาลีลาท่ารำของภาคใต้มาบรรจุในฟ้อนเหนือ หรือนำลีลาท่าทางของภาคเหนือมาบรรจุในเซิ้งต่าง ๆ ของภาคอีสานซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ควรจะได้หลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
7. การคิดประดิษฐ์ท่ารำให้คำนึงถึง จุดมุ่งหมายของระบำ รำ ฟ้อนในชุดนั้น ๆ ด้วย เช่น ระบำชุดนี้มีจุดมุ่งหมายให้เป็นผู้หญิงล้วน (ตังนาง) ก็ต้องหลีกเลี่ยงท่ารำที่มีการยกเท้าแบะเหลี่ยม กันเข่า ซึ่งเป็นลีลาท่าทางของตัวพระโดยสิ้นเชิง
นอกจากหลักเกณฑ์ในการคิดประดิษฐ์ท่ารำที่กล่าวมาแล้ว ในการคิดประดิษฐ์ท่ารำชุดใหม่ขึ้น ให้ตั้งจุดหมายที่แน่นอนในระบำชุดนั้นไว้ จะใช้ผู้แสดงเป็นผู้ชายคู่กับผู้หญิง หรือจะเป็นผู้หญิงล้วน หรือเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น เป็นนก ปู หรือปลา ต้องการเสนอความมุ่งหมายในด้านใดเมื่อได้ความมุ่งหมายที่แน่นอนแล้ว จึงคัดเลือกเพลงโดยการนำเพลงนั้นมาฟังหลาย ๆ ครั้งต่อจากนั้นจึงกำหนดท่ารำ เช่น ระบำพนมรุ้ง มนตรี ตราโมท ได้บรรจุเพลงระบำชุดนี้ขึ้นก่อนเสร็จแล้วจึงส่งม้วนแถบบันทึกเสียงเพลงระบำพนมรุ้งให้ เฉลย ศุขะวณิช คิดประดิษฐ์ท่ารำขึ้นตามทำนองเพลง จึงได้กำหนดระบำพนมรุ้งขึ้นมาอีกหนึ่งชุด ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็มีเจ้าหน้าที่ออกแบบให้ โดยนำนักศึกษาที่เป็นผู้แสดง ไปแต่งตัว แล้วมาซ้อมรำให้ดูปรากฏว่าเสื้อผ้าบางส่วน ไม่เหมาะสมกับท่ารำ ก็ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เครื่องแต่งกายปรับเสื้อผ้าให้เข้ากับท่ารำ
จะเห็นได้ว่าวิธีการคิดประดิษฐ์ท่ารำของ เฉลย ศุขะวณิช จะใช้วิธีฟังเพลงก่อนแล้วจึงคิดท่ารำให้มีลีลาผสมกลมกลืนไปกับบทร้อง และท่วงทำนองของเพลงนั้น ๆ ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะยึดท่ารำเป็นหลัก ส่วนการคิดประดิษฐ์ท่ารำที่เริ่มต้นจากการใช้เพลงแบ่งได้เป็น 2 จำพวกคือ
1. การคิดประดิษฐ์ท่ารำ ที่มีบทร้องกำหนดความมุ่งหมายอย่างชัดเจน เช่น บทกลอนถวายพระพร บทอวยพรต่าง ๆ ที่มีบทเนื้อร้องนั้นให้ยึดความหมายของเนื้อเพลงเป็นหลักในการออกท่าร่ายรำให้ถูกต้อง โดยอาศัยแม่ท่าในบท เพลงช้า เพลงเร็ว และแม่บท (กลอนตำรารำ)
2. การคิดประดิษฐ์ท่ารำที่ไม่มีบทเนื้อร้อง มีแต่ทำนองเพลงนั้น ให้ยึดอารมณ์ท่วงทำนองของเพลงที่บรรเลง เช่น อารมณ์เพลงคึกคักให้ความสนุกสนานมีท่วงทำนองรวดเร็วอารมณ์เพลงที่แสดงความโกรธ อารมณ์เพลงที่แสดงถึงความเศร้าโศกทำนองโหยหวน หรืออารมณ์เพลงอันอ่อนหวานแสดงถึงความรัก อารมณ์เพลงหนักแน่นแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
เมื่อลักษณะของอารมณ์เพลงแล้ว จึงคิดประดิษฐ์ท่ารำโดยอาศัยแม่ท่าในเพลงช้า เพลงเร็ว แม่บท นำมาออกท่าร่ายรำให้กลมกลืนกับท่วงทำนองของอารมณ์เพลงนั้น ๆ แต่ในบางครั้งก็สามารถ คิดประดิษฐ์ท่ารำให้ตรงกับความมุ่งหมายของเนื้อหาที่จะนำเสนอใน ระบำ รำ ฟ้อน ชุดนั้น ๆ ออกมาก่อน แล้วจึงคัดเลือกอารมณ์ของทำนองเพลงให้ตรงกับท่าทางร่ายรำนั้น

1 ความคิดเห็น: