วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

207 ความสำคัญของท่ารำไทย

ท่ารำที่ครูนาฎศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ไว้ทั้งที่ตบแต่งจากท่าธรรมดาและตามความหมายอื่น ๆ มีมากมาย พร้อมทั้งตั้งชื่อท่านั้น ๆ ไว้ตั้งแต่ท่าประนมมือไหว้ เรียกว่า ท่าเทพนม และอีหลายสืบท่า แต่งไว้เป็นกลอนสำหรับร้องหรือท่องให้จดจำได้ง่าย มักเรียกกันว่า "แม่บท" เพราะเป็นท่าหลักที่จะต้องเรียนรู้ให้แม่นยำบทที่สั้น มีท่ารำน้อย ก็คือ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ แทรกอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก ดังนี้

รำแม่บทเล็ก

เทพนมปฐมพรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน
ทั้งกวางเดินดงหงส์บินกินรินเลียบถ้ำอำไพ รับ
อีกช้านางนอนภมรเคล้าแขกเต้าผาลาเพียงไหล่
เมขลาโยนแก้วแววไวมยุเรศฟ้อนในอัมพร
ยอดตองต้องลมพรหมนิมิตอีกทั้งพิสมัยเรียงหมอน
ย้ายท่ามัจฉาชมสาครพระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์


ส่วนในตำราฟ้อนรำ เป็นบทอย่างพิสดารมีชื่อท่ารำซึ่งแต่งเป็นกลอนว่า ดังนี้

เทพประนม ปฐม พรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาช้านางนอน
ผาลาเพียงไหล่ พิสมัยเรียงหมอน กังหันร่อนแขกเต้าเข้ารัง
กระต่ายชมจันทร์ พระจันทร์ทรงกลด พระรถโยนสารมารกลับหลัง
เยื่องกรายฉุยฉายเข้าวัง มังกรเลียบท่ามุจลินท์
กินนรรำ ซ้ำช้างประสานงา ท่าพระรามาก่งศิลป์
ภมรเคล้า มัจฉาชมวาริน หลงใหลได้สิ้น หงส์ลินลา
ท่าโตเล่นหาง นางกล่อมตัว รำยั่ว ชักแป้งผัดหน้า
ลมพัดยอดตอง บังสุริยา เหราเล่นน้ำ บัวชูฝัก
นาคาม้วนหาง กวางเดินดง พระนารายณ์ฤทธิรงค์ขว้างจักร์
ช้างหว่านหญ้า หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงอิทธิฤทธิ์
กินนรฟ้อนฝูง ยูงฟ้อนหาง ขัดจางนาง ท่านายสารถี
ตระเวนเวหา ขี่ม้าตีคลี ตีโทนโยนทับ งูขว้างฆ้อน
รำกระบี่สี่ท่า จีนสาวไส้ ท่าชะนีร่ายไม้ ทิ้งขอน
เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร กินนรเลียบถ้ำ หนังหน้าไฟ
ท่าเสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง โจงกระเบนตีเหล็ก แทงวิสัย
กลดพระสุเมรุ เครือวัลย์พันไม้ ประไลยวาต คิดประดิษฐ์ทำ
กระหวัดเกล้า ขี่ม้าเลียบค่าย กระต่ายต้องแร้วแคล้วถ้ำ
ชักซอสามสายย้ายลำนำ เป็นแบบรำแต่ก่อนที่มีมา

ขอให้พิจารณาดูภาพท่ารำเปรียบเทียบกันชื่อท่ารำ จะแลเห็นว่า การรำก็คือการแปลชื่อท่าให้เป็นการรำโดยตรง แต่ประดิษฐ์ให้มีส่วนสัดงดงาม เมื่อนำท่ารำต่าง ๆ ไปใช้ในการแสดงก็ต้องเรียบเรียงท่ารำโดยลำดับท่าให้เข้าเข้ากับจังหวะทำนองของเพลง และดนตรีที่บรรเลงประกอบ และตบแต่งท่ารำสำหรับเชื่อมท่าต่าง ๆ ให้ติดต่อกันสนิทสนม การใช้ท่ารำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงใดๆ รวมความว่าเป็น "นาฎศิลป์" ทั้งสิ้น การแสดงที่ใช้ท่ารำมี ๒ ประเภท ที่เป็นหลักใหญ่ๆ คือ
๑. ระบำ
๒. ละคร

ระบำ
ระบำ หมายถึงการแสดงที่มุ่งหมายความสวยงาม และความบันเทิงเป็นสำคัญ ไม่มีเรื่องราวผู้แสดงจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ อาจเป็นระบำเดี่ยว คือ รำคนเดียว ระบำคู่ รำ ๒ คน หรือระบำหมู่ รำหลายๆ คน
ระบำหมู่สมัยโบราณก็คือระบำที่เรียกว่า "ระบำสี่บท" มักจะเป็นการจับระบำของเทวดากับนางฟ้า เรียกว่า ระบำสี่บท เนื่องจากมีทำนองเพลงร้อง และบรรเลงดนตรีอยู่ ๔ เพลง คือ เพลงพระทอง เพลงเบ้าหลุด เพลงสระบุหร่ง (อ่านว่าสะหระบุหร่ง) และเพลงบหลิ่ม (อ่านว่า บะหลิ่ม) ในสมัยโบราณท่านแต่งคำร้องเป็นเพลงละบท จึงเป็น ๔ บทจริง ๆ สมัยต่อมามักจะลดบทร้องให้สั้นเข้า เป็นบทละ ๒ เพลง และบางทีก็ลดเพลงลงเหลือเพียง ๒ เพลง หรือเพลงเดียวก็มี ซึ่งจะเรียกระบำสี่บทไม่ได้ แต่การรำยังคงใช้แบบของระบำสี่บทอยู่ตามเดิม

นาฏศิลป์ เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองของไทยเรา ความงดงามของท่าร่ายรำตามจังหวะและทำนองเพลง ตลอดจนการแสดงสื่อความหมายด้วยบทเจรจา ท่าทาง และคำร้องเป็นลำนำ ช่วยให้ผู้ชมได้ชื่นบานสนุกสนาน ได้อิ่มเอมกันสุนทรียรส และเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการแสดง นาฏศิลป์ไทยจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปู่ ยา ตา ยาย ได้ถ่ายทอดไว้ให้สมควรที่เยาวชนทั้งหลายควรสนใจรับสืบทอด และรักษาไว้เป็นศรีสง่าของชาติไทยสืบไป

ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่างๆ ของคนในชีวิตประจำวันนั้นเอง แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้า ก็ต้องเคลื่อนไหว รับสัมพันธ์กันทุกส่วนจึงจะแลดูงามและสื่อความหมายได้ดี การแสดงท่ากวัก โบกสะบัด จีบคว่ำ จีบหงาย ร้องไห้ อิ่มเอม โกรธ ขับไล่ ฯลฯ ล้วนแต่มีท่ารำที่สวยงาม และดูได้เข้าใจชัดเจนทั้งสิ้น
เนื่องจากการร่ายรำเป็นศิลปะขั้นสูง ผู้ที่จะรำเป็นจึงต้องได้รับการฝึกหัดและฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะดูนิ่มนวล กลมกลืน และงามสง่า ครูนาฏศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ท่ารำไว้มาก เป็นท่าหลักที่ต้องเรียนรู้ให้แม่นยำ ท่าหลักสำหรับฝึกหัดรำนี้มักเรียกกันว่า "แม่บท" เป็นท่ารำที่เลียนแบบอิริยาบถทั้งของเทพบุตร เทพธิดา คน สัตว์และธรรมชาติแวดล้อม เช่น เทพนม สอดสร้อยมาลา กวางเดินดง เมขลาล่อแก้ว ยอดตองต้องลม เป็นต้น ท่ารำบางท่าเป็นการแสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงฤทธิ์ เป็นต้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มกราคม 2554 เวลา 14:53

    ขอคุณอาจารย์ที่ได้มาเผยแพร่ความสำคัญของท่ารำไทย

    ด.ญ.เบญจมาศ คมกล้า เลขที่30ม.2/6

    ตอบลบ