วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นาฏกรรมร่วมสมัย (Contemporary Dance)

นาฏกรรมร่วมสมัย (Contemporary Dance)
         
ที่มา  นิยาม ความหมาย ของนาฏกรรมร่วมสมัย
            นาฏกรรมร่วมสมัย หรือนาฏยศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance)
เป็นปรากฏการณ์ทางศิลปะการแสดงที่พบเห็นได้ทุกยุคทุกสมัย นาฏกรรมร่วมสมัยในยุคหนึ่งๆ นั้นเกิดขึ้นจากนาฏยศิลปินมีความต้องถ่ายทอดวิธีการคิด การออกแบบ สร้างสรรค์ นำเสนอรูปแบบวัฒนธรรมบันเทิงแบบใหม่แก่สังคม หากเป็นที่ยอมรับอย่างสูง มีการถ่ายทอดและเผยแพร่ มีการเลียนแบบ นั่นย่อมหมายถึงความสำเร็จของกระบวนการคิด การออกแบบและสร้างสรรค์ของศิลปิน อาจนำสู่นาฏกรรมอมตะในที่สุด (Classical Style) ในขณะที่ผลงานของนาฏยศิลปินคนใดไม่มีการแสดงเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ผลงานดังกล่าวก็ห่อนหายเลือนลางตามกาลเวลา ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นาฏกรรมร่มสมัยสามารถดำรงอยู่ได้ย่อมขึ้นอยู่กับความชอบ ความพึงพอใจของผู้ชมเป็นผู้ประเมินซึ่งเสมือนผู้พิพากษาสูงสุด ผู้มีอำนาจชี้ขาดในวัฒนธรรมบันเทิงแห่งสมัยนั้น ๆ ทว่า ในความเป็นจริง ศิลปะล้วนเปลี่ยนปรับตามวิวัฒน์ของกาลเวลา มีความเจริญรุ่งเรือง หม่นมัว จางหายตามกระแสของกาลเวลา
          นาฏกรรมในสมัยหนึ่ง ๆ มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องเพราะการปะทะสังสรรค์ของกลุ่มชนในสังคม การศาสนา การสงคราม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน การท่องเที่ยว การติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขาย ซึ่งล้วนเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ชุมชน หรือสังคมมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดความอ่านของกันและกัน นาฏยศิลปินได้รวบรวมและเก็บข้อมูลจากการพบปะนั้นสู่กระบวนการคิดการสร้างสรรค์ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคสมัยแห่งการเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วยการคมนาคม การสื่อสารอย่างไร้พรมแดน ทำให้ศิลปินมีโอกาสได้พบเห็นงานศิลปะได้อย่างง่ายดาย จากนั้น จึงหลอมประสบการณ์สุนทรีย์จากสิ่งที่ได้สัมผัสสู่กระบวนการสร้างสรรค์งาน อาจจะด้วยความเบื่อหน่ายกับรูปแบบเดิม ที่กระทบความต้องการของจิตใจก่อกวนให้เกิดความซ้ำซากจำเจ อาจจะสร้างขึ้นมาด้วยการหยิบยืมทาง
ศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ มาผสมผสานกับตัวตนและรากเหง้าของตนเอง หรือสรรหากระบวนการประดิษฐ์คิดสร้างให้เกิดเป็นรูปแบบใหม่ๆ
นาฏกรรมร่วมสมัยได้รับความนิยม ความพึงใจของสังคมไทยในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากมีสถาบันการศึกษาด้านนาฏยศิลป์ได้พยายามเพิ่งหลักสูตรเนื้อหาการเรียนการสอนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรกิจกรรมการเรียนการสอน มีการจัดการแสดงนาฏกรรมร่วมสมัยเผยแพร่ต่อสาธารณชน มีการเชื้อเชิญชนชาติต่างๆ เข้ามาแสดงในประเทศเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นต้น ด้วยเป็นปรากฏการณ์แบบใหม่ที่สว่างขึ้นในสังคมบันเทิง จึงเป็นที่จอดจ่อสนใจของผู้เสพย์งาน

ความหมายของนาฏกรรมร่วมสมัย
จากประสบการณ์เรียน การสั่งสม และสร้างงานนาฏกรรมร่วมสมัยของพีรพงศ์ เสนไสย หมายถึง ศิลปะการเต้นรำแห่งปัจจุบันกาล โดยการหลีกหนีธรรมเนียมปฏิบัติจากกรอบจารีตดั้งเดิม ซึ่งเกิดขึ้นในกาลสมัยปัจจุบันเพื่อสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน จากแนวความคิดของนาฏยศิลปินผู้แสวงหาและหวังริเริ่มเติมปรุงปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการ
          นาฏกรรมร่วมสมัย (Contemporary Dance) อาจเกิดขึ้นจากการปรับปรุง ประยุกต์จากรากเหง้าของเดิมสู่วิธีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ หรือเกิดจากความต้องการหลีกหนีความซ้ำซากจำเจของกรอบดั้งเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกลเม็ดเด็ดพราย กลวิธีพิเศษแรงบันดาล จินตนาการและข้อมูลของนาฏยศิลป์ผู้ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ผลงาน

ประเภทของนาฏกรรมร่วมสมัย
          ด้วยความหลากหลายทางความคิด ประสบการณ์สุนทรีย์ของนาฏยศิลปินที่ได้รับการบ่มเพาะ ศึกษา แสวงหา เรียนรู้ เกิดเป็นปัจเจกวิถีของแต่ละคน สะท้อนออกมาเป็นงานนาฏกรรมนั้นมีหลากหลายประเภทในสังคมปัจจุบัน ทั้งการใส่ใจในการจัดวางสรีระร่างกาย ก้านกิ่งแขนขา ศีรษะจรดเท้า พลังการเคลื่อนไหว ทิศทางการปรับเปลี่ยนแถว การใช้พื้นที่บนเวทีอย่างหลากหลาย การจัดองค์ประกอบนักแสดง การใช้อารมณ์ ฯลฯ ต่างสอดผสานเป็นหนึ่ง ดังนั้น หากแบ่งประเภทของนาฏกรรมร่วมสมัยโดยอาศัยวิธีการสร้างสรรค์ร้อยเรียงเรื่องราว เรือนร่าง และอารมณ์ในการแสดงชุดหนึ่ง อาจพบว่า ประกอบด้วย 4 ประเภท หลัก ดังนี้
1.      ประเภทนาฏกรรมเน้นธรรมชาติ หมายถึง นาฏกรรมร่วมสมัยที่ยังคงมุ่งเน้นความปรกติวิสัยของกระบวนท่า สมรรถภาพและศักยภาพทางสรีระ กระบวนท่า การเคลื่อนไหว และอารมณ์ของผู้แสดงที่สามารถสื่อสารได้เข้าใจอย่างง่ายสำหรับผู้ชม โดยอาจจะหลงเหลือรากหง้า กลวิธีการสื่อสารทางกระบวนท่าอย่างจารีตนิยมไว้เพียงบางเบา ไม่กระทบกระเทือนต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน และผู้ชมสัมผัสได้ว่าเป็นการแสดงอันพึงกระทำได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ โดยการออกแบบ การสร้างสรรค์นั้นอาจเข้าใจว่าผู้แสดงกำลังทำไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งปราศจากการตีความ
2.      ประเภทนาฏกรรมกึ่งธรรมชาติ หมายถึง นาฏกรรมร่วมสมัยที่ยังคงมุ่งเน้นความปรกติวิสัยของกระบวนท่า สมรรถภาพและศักยภาพทางสรีระ กระบวนท่า การเคลื่อนไหว และอารมณ์ของผู้แสดง หากแต่ปรุงปรับการจัดวางสรีระร่างกาย การเคลื่อนไหว และกระบวนท่าเสียใหม่ให้แปลกหูแปลกตาจากเดิม
3.      ประเภทนาฏกรรมเหนือธรรมชาติ หมายถึง การคิดประดิษฐ์สร้างให้ร่างกายสื่อความหมายโดยออกแบบให้เกินปรกติวิสัยของกระบวนท่า สมรรถภาพและศักยภาพทางสรีระจะกระทำได้
4.      ประเภทนาฏนามธรรม หมายถึง การคิดประดิษฐ์สร้างที่นำเสนอรูปแบบการแสดง การออกแบบกิริยาอาการ ท่าทาง การเคลื่อนไหว การผสมผสานนานาสารพัดศาสตร์และศิลป์ ปรุงเคี่ยวจนหลีกหนีกรอบประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติมาแต่ก่อนกาล ให้เกินปรกติวิสัยของกระบวนท่า สมรรถภาพและศักยภาพทางสรีระจะกระทำได้ และเน้นวิธีการนำเสนอภาพรวมของการแสดงที่อาจจะเป็นเรื่องราว พลัง อารมณ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏในยุคสมัยใด ๆ มาก่อน

รูปแบบของนาฏกรรมร่วมสมัย
การคิด การออกแบบ และการสร้างให้เป็นนาฏกรรมร่วมสมัยนั้น เกิดขึ้นจากหลายวิธีการโดยนาฏยศิลปิน ดังนี้
1.      คิดสร้างแบบกลิ่นไอจารีตเดิม โดยการปรับปรุง ประยุกต์และนำเสนอเสนอให้เกิดโฉมใหม่ รูปลักษณ์ใหม่
2.      คิดสร้างแบบผสานผสมความหลากหลายทางนาฏกรรมของแต่ละชนชาติ โดยการหยิบยืมความโดดเด่น เอกลักษณ์พิเศษทางวัฒนธรรมด้านการแสดงสู่การตกแต่ง เสริม เติม ปรุง
คิดสร้างแบบการผสมผสานความหลากหลายของศาสตร์นานาแขนงเข้า
3.      คิดสร้างแบบการผสมผสานความหลากหลายของศาสตร์นานาแขนงเข้าเป็นหนึ่งเดียว เช่น การละคร มหรสพ มายากล กายกรรม ทัศนศิลป์ การดนตรี
4.      คิดสร้างแบบปรากฏการณ์ใหม่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบสำคัญของนาฏกรรมย่อมหมายถึง การเคลื่อนไหวสรีระ
เรือนร่างให้เกิดเป็นท่าทางสมบูรณ์อย่างมีความหมาย อย่างมีเจตนารมย์

องค์ประกอบศิลป์ที่เพิ่มสุนทรียรสให้นาฏกรรมร่วมสมัยนอกจากกระบวนท่าของ
สรีระร่างกาย การเคลื่อนไหว อารมณ์ เป็นแก่นหลักแล้ว ยังประกอบด้วย เครื่องแต่งกาย ศิลปะการแต่งหน้า ดนตรี เสียงประกอบ เทคนิคพิเศษ บทประพันธ์ อุปกรณ์ประกอบการแสดง ฉาก เวทีสถาน การออกแบบระบบแสง เป็นอาทิ ทั้งนี้ องค์ประกอบดังกล่าว มิใช่เครื่องชี้วัดความสำเร็จสูงสุดของวิธีการนำเสนอ หากแต่เป็นเพียงเครื่องเคียงเท่านั้น ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละสังคมด้วย บางสังคมอาจพึงใจที่ได้เห็นเสื้อผ้าเครื่องประดับผสานกับลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสอดผสาน บางสังคมอาจมองว่าเสื้อผ้าเครื่องประดับเป็นปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายทอดความสมบูรณ์ของกระบวนท่า เรื่องราว และอารมณ์ ดังนั้น จึงเปลือยกายวาดลีลา ท่าทางอย่างอิสระโดยปราศจากอาภรณ์ห่มคลุมกาย หรือบางกลุ่มบางสังคมอาจยินดีกับการได้ฟังเสียงพากษ์ ขับร้อง ดนตรีประกอบการแสดง แต่อีกมุมหนึ่งอาจมองว่าเสียงใดๆก็ไม่จำเป็นหากคิดจะเป็นนาฏกรรมร่วมสมัย เป็นต้น
นาฏกรรมร่วมสมัย เป็นศาสตร์และศิลป์ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง ดำเนินแนวความคิด เรื่องราว อย่างน่าติดตาม อาจเนื่องเพราะ ผู้ออกแบบสร้างสรรค์ใช้กลยุทธ์การเข้าไปนั่งในใจของผู้เสพย์มากยิ่งขึ้น รวมถึงวิธีการถ่ายทอดที่ตรงไปตรงมา เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนในสังคมปัจจุบันเพื่อคนปัจจุบัน ด้วยความแปลก ใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจจากรูปแบบเดิมๆที่เคยสัมผัส ดังนั้น ความยวนนิยมในนาฏกรรมร่วมสมัยจึงเป็นที่สนใจของคนในสังคมปัจจุบัน
ดังนั้น นาฏกรรมร่วมสมัย (Contemporary Dance) จึงหมายถึง ระบำ รำฟ้อน แลรวมการเต้นของคนสมัยปัจจุบันที่สร้างสรรค์ขึ้นสำหรับ วันนี้ เวลานี้ พุทธศักราชนี้ สถานการณ์บริบทแวดล้อมแห่งกาลปัจจุบัน โดยนาฏยศิลปินผู้ดำรงชีวิตในกาลปัจจุบันเช่นกัน
 สถานภาพนาฏกรรมไทยร่วมสมัย

ถ้านาฏยกรรมไทยจะดำรงอยู่ในความนิยมของผู้คนต่อไป การปรับเปลี่ยนไปตาม
เทคนิคและสังคมคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ปรับเปลี่ยน  งานอนุรักษ์มาตรฐานเก่าให้คงอยู่อย่างบริบูรณ์เป็นความจำเป็น  เพราะมาตรฐานเก่าน่าจะเป็นคลังที่คนรุ่นใหม่สามารถเบิกไปใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  แต่การจะเอาไปใช้นั้นไม่น่าจะเป็นการทำซ้ำอยู่เสมอไป  หากควรจะนำไปเป็นฐานสำหรับการพัฒนานาฏกรรมร่วมสมัยที่เป็นของไทยขึ้น  ตรงนี้จึงไม่ควรสับสนระหว่างงานของกรมศิลปากรซึ่งควรอนุรักษ์มาตรฐานเก่าให้บริบูรณ์  กับงานของเอกชนซึ่งควรจะได้ทดลอง  และเสี่ยงกับกับการสร้างนาฏกรรมใหม่  บนพื้นฐานนาฏกรรมเก่า   ความเสี่ยงที่จะต้องยอมรับในโลกยุคใหม่  ไม่ใช่ความเสี่ยงว่าจะได้นาฏยกรรมที่ได้รับความนิยมหรือไม่เท่านั้น  แต่ที่สำคัญก็คือความเสี่ยงในทางธุรกิจ ( นิธิ เอียวศรีวงศ์ , 2534 ,163 ).
จากปรากฏการณ์เท่าที่ผ่านมาในช่วงระยะสองถึงสามทศวรรษ  ศิลปะการแสดงนาฏกรรมไทยร่วมสมัย  ดูจะมีชีวิตหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง  มากกว่ากลุ่มนาฏกรรมโบราณของไทย  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเรียนการสอน  ที่เปิดสอนกันมากขึ้น  รวมทั้งความต้องการของสังคมบริโภคที่ยังคงใช้  ศิลปะการแสดงนาฏกรรมไทยร่วมสมัยเป็นส่วนของกิจกรรมต่างๆ   ของสังคม เพราะถือว่าเป็นความแปลกใหม่จากการแสดงที่มีอยู่เดิม  อีกทั้งอาจเป็นเพราะขนาดของศิลปะการแสดงนาฏกรรมไทยร่วมสมัย  เป็นงานขนาดที่เล็กกว่า ความประณีตน้อยกว่าการสร้างสรรค์งานนาฏยกรรมไทยโบราณ  จึงง่ายต่อการสร้างสรรค์  หรือพัฒนาขึ้นใหม่ และปัจจัยเรื่องของเวลา งบประมาณ ของระบบธุรกิจในปัจจุบันเป็นตัวกำหนดคุณภาพของงานอีกด้วยเช่นกัน  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดการสร้างสรรค์งานในกลุ่มนาฏยกรรมไทยร่วมสมัยขึ้นใหม่หลากหลายรูปแบบการนำเสนอ  ทั้งส่วนที่เป็นงานอันอาศัยลีลารูปแบบการร่ายรำแบบมาตรฐาน  และงานที่พัฒนาจากนาฏศิลป์พื้นบ้าน 
การประยุกต์นาฏกรรมไทยร่วมสมัย คือการสร้างสรรค์จากรากฐานเดิมหรือโครงสร้างงานที่มีอยู่เดิม โดยศึกษาข้อมูลแล้ว คัดเลือก แล้วจึงลงมือปฏิบัติจริง อันนำไปสู่การนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน ซึ่งผู้สร้างสรรค์อาจจะต้องอาศัยกระบวนการคิดและกระบวนการผลิตที่ประกอบด้วยข้อมูลและประสบการณ์เดิมของตนเองผนวกกับจินตนาการโดยผสมผสานให้เกิดคุณลักษณะของงานที่มีเอกภาพ
การประยุกต์เป็นการประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์งานวิธีหนึ่งในบรรดาการสร้างสรรค์งานทางด้านนาฏกรรมไทยทั้งหลาย การสร้างสรรค์งานโดยการประยุกต์ท่ารำดังกล่าวมีความแตกต่างจากการสร้างสรรค์งานโดยวิธีคิดขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะใดก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้บุคคลคิดสร้างสรรค์การแสดงต่างๆอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ
   ความคิดเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ควบคู่กันจนแยกไม่ออกกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดในเชิงรูปธรรมและนามธรรม  ความคิดเชิงสร้างสรรค์ล้วนแต่เข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานที่ต้องการการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ เพื่อให้ก้าวทันกับโลกในยุคปัจจุบันที่ต้องการความแปลกใหม่และแตกต่างอยู่ตลอดเวลา
จากกระแสสังคมปัจจุบันลักษณะเฉพาะในการสร้างสรรค์นาฏกรรมไทยร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน  ควรจะเป็นเช่นใด  เชื่อว่าคงไม่สามารถคาดหวังให้เกิดภาพงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ  คงต้องมีงานที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามรสนิยมของผู้สร้างงาน  ทว่าสิ่งสำคัญที่เชื่อว่ากลุ่มงานนาฏกรรมไทยควรมี  คือ  ความสมดุลย์ของระบบความคิด  และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน  แม้ว่าจะเป็นเพียงการแสดงที่เป็นชุดประเภทระบำก็ตามที   แต่ก็คงมิใช่เพียงการร่ายรำเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของดนตรี  ผู้สร้างงานควรมีความชัดเจนในเรื่องกระบวนการออกแบบกระบวนท่าในการร่ายรำ มีความเข้าใจในการออกแบบเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับการแสดงประเภทนั้นๆและหากสามารถประสานงานกับผู้สร้างสรรค์บทเพลง ดนตรี ที่สามารถประดิษฐ์บทเพลงขึ้นใหม่ เพื่อให้ผลงานมีคุณค่าและเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัว  ผลงานนาฏกรรมไทยในกลุ่มระบำรำฟ้อน  โดยเฉพาะที่มีท่ารำพัฒนามาจากท่ารำแบบโบราณ  หากยึดความนิยมของประชาชนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา นาฏยกรรมไทยโบราณดูเหมือนจะมีอนาคตที่แคบลงและไม่กว้างขวางนักเมื่อเทียบเท่ากับวงการบันเทิงที่อยู่ในสายงานประเภทเดียวกัน ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ทั้งนี้เพราะรากฐานทางสังคมของนาฏกรรมไทยโบราณเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ศาสนาและความเชื่อหลายอย่างได้เปลี่ยนไปทั้งโดยโลกทัศน์ของประชาชนเองและโดยการกระทำของรัฐ ความเคยชินกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะในเขตเมืองรับการเต้นรำแบบตะวันตก ซึ่งเน้นความเสมอภาค  เสรีภาพ  อิสรภาพ  การแสดงอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ฯลฯ ได้ดีกว่านาฏกรรมเก่าซึ่งกำหนดบทบาทของหญิง ชาย และบุคคลจากกลุ่มมากกว่าจากความเป็นปัจเจกชน  การแข่งขันของการสื่อความแบบอื่นไม่ได้รับการตอบสนองเท่าทันจากนาฏกรรมไทยมากนัก   ตัวสื่อเทคนิคใหม่ๆก็อาจสร้างข้อจำกัดแก่นาฏกรรมไทย   น่าประหลาดที่นาฏกรรมไทยไม่ค่อยได้ถูกผนวกเข้าไปในการแสดงใหม่ๆมากนัก  นาฏกรรมไทยเกิดความแข็งตัวมากขึ้นตามลำดับ จนไม่สามารถถูกการสื่อความอื่นๆดูดกลืนไปได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้นาฏกรรมไทยค่อนข้างมีชีวิตชีวาและปรับเปลี่ยนตนเองอย่างกระฉับกระเฉงมาก่อน
         นาฏกรรมไทยในปัจจุบันไม่สามารถขยายตัวไปใช้ และผนวกเอาสื่อและเทคนิคใหม่ๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนาฏกรรมได้ อันที่จริงนับแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา นาฏกรรมไทยมีความกระฉับกระเฉงในเรื่องนี้อย่างมาก แบบแผนกระบวนรำทั้งในนาฏกรรมราชสำนักและประชาชนเกิดแพร่หลายขึ้นในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ลงมาเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบแผนที่เรียกว่า ละครใน หรือละครชาตรีและละครนอกก็เกิดแพร่หลายขึ้นในช่วงนี้เป็นต้นมา เมื่อนาฏยกรรมและการแสดงตะวันตกแพร่หลายเข้ามา ก็มีความพยายามลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนนาฏยกรรมและการแสดงด้วยเทคนิคของตะวันตกบ้าง การขยายตัวของการแสดงอาชีพทำให้นักแสดงนาฏกรรมปรุงแต่งผสมผสานนาฏกรรมหลายชนิดเข้าหากัน สร้างรูปแบบการแสดงที่ใช้นาฏยกรรมใหม่ๆขึ้นหลากหลายชนิด เช่น ลิเก และ ลำตัด เป็นต้น   แต่ความกระฉับกระเฉงที่จะขยายตัวด้วยเทคนิคและแนวคิดใหม่ๆ เหล่านี้ก็ยุติลงก่อนจะสิ้นพุทธศตวรรษที่ 25 ดูเหมือนการรำวงซึ่งปรุงมาจากการรำโทนจะเป็นการปรับนาฏยกรรมที่ประสบความสำเร็จ เป็นชนิดสุดท้าย ต่อจากนั้นมาก็แทบจะไม่เห็นการขยายตัวของนาฏยกรรมในลักษณะเช่นนี้อีกเลย ( นิธิ เอียวศรีวงศ์ , 2534.162 )
          นาฏกรรมไทยร่วมสมัยดูคล้ายเหมือนว่ารุ่งเรืองและเป็นที่สนใจของสังคมปัจจุบัน ซึ่งพบว่า นาฏยศิลปินหลายคน หลายกลุ่มต่างมุ่งแสวงหากลเม็ดเด็ดพราย สู่การสร้างนาฏกรรมร่วมสมัยให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน บางคนแหวกออกจากสังคมดั้งเดิมดั่งผู้มีประสบการณ์บอบช้ำจากการสร้างสรรค์งานมานานต่างผวนวิถีการออกแบบสร้างสรรค์นานารูปแบบ บางคนไม่เคยคิดไม่เคยทำมาก่อนแต่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าพึงใจก็เลยทดลอง ครั้นเมื่อผลิตคิดสร้างออกมาแล้วกลับนึกสนุกกับงานร่วมสมัยจึงหลงใหลทวีคูณ ในที่สุดก็เป็นผู้มีขื่อเสียงในวงการนาฏกรรมร่วมสมัย จะว่าไปแล้ว ต่างคนต่างที่มา ต่างประสบการณ์ และต่างรูปแบบ ทว่า มีจุดยืนเดียวกันคือ ต้องการสลัดคราบกรอบ จารีตอะไรบางอย่างให้เกิดเป็นปรากฎการณ์ใหม่ด้วยกันทั้งสิ้น
          นาฏยศิลปินเป็นผู้สร้างผลงานนาฏกรรมร่วมสมัยขึ้น ส่วนเนื้องานจะงอกเงย งดงาม สมหวังและสามารถดำรงยืนหยัดอยู่ในสังคมมากน้อยเพียงใดนั้น มิใช่เพียงผู้ชม ผู้เสพย์งานเท่านั้น แต่ยังมีกฎ ระเบียบ บรรทัดฐานของกลุ่มคนดั้งเดิมที่ตระหนัก รักษา ธำรงกรอบประเพณีเดิม ดังเป็นที่เข้าใจกันว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม
นาฏกรรมไทยร่วมสมัยในปัจจุบัน

นาฏกรรมไทยร่วมสมัยที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน มีความหลากหลายด้วยการผสานวัฒนธรรมจารีตชั้นสูง วัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย ตลอดจนการผสานวัฒนธรรมจากต่างชาติทั้งนี้ล้วนเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงกระแสความต้องการของผู้สร้างสรรค์ ผู้ชม จนกระทั่งเข้าไปมีบทบาทหลายด้าน ทั้งในแวดวงการศึกษาด้านศิลปะการแสดง และนาฏยศิลป์ระดับสูง ในสังคมบันเทิงเชิงพาณิชย์ที่จำเป็นต้องอาศัยนาฏกรรมไทยร่วมสมัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสีสันการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การสร้างภาพลักษณ์แก่องค์กร การประชาสัมพันธ์ขายสินค้า เป็นต้น

ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ยุคแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนนานาทัศนคติกันอย่างแพร่หลาย สื่อหลายประเภทกำลังเป็นทรราชย์โค่นฆ่าผู้คนด้วยการแพร่กระจายจิตใต้สำนึกด้านกามวิสัยอย่างคึกโครม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพเขียน รูปปั้น ภาพยนตร์ หรืองานอื่นๆ ศิลปกรรมเป็นสื่อที่บอบบางยิ่งนักและเป็นสื่อที่ถูกจับตามองของสังคมเป็นพิเศษ อาจเนื่องเพราะภาพลักษณ์ภายนอกของผู้สร้างสรรค์ผลงานอีกทั้งสภาพจิตใจอันอ่อนไหวในการเนรมิตเสกสร้างงาน จึงไม่แปลกที่ ศิลปินทุกแขนงจะถูกสังคมพิพากษาถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมจากผลงานที่เขาเหล่านั้นสร้างขึ้น

          การออกแบบกระบวนท่าเต้นรำ (Choreography) ให้มีและให้เป็นท่าที่จำเป็นต้องแตะเนื้อต้องตัวระหว่างชายหญิง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างยกใหญ่ เมื่อสังคมถึงขั้นวิกฤติจากสื่ออื่น ๆ นาฏกรรมถูกมองว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ หรือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จะต้องถูกโจมตีจากสายตา การรับรู้ของผู้คนมากมาย คนรุ่นใหม่กำลังสาดเทพลังสร้างสรรค์ด้วยการคิด การออกแบบสร้างสรรค์ให้นาฏกรรมงดงามโดยอาศัยท่าทาง อารมณ์ จริต และการเคลื่อนไหวด้วยสรีระ แต่ยังมีอาชีพขายเรือนร่าง ขายสรีระเพื่อกระตุ้นกามวิสัยให้ผู้คนหลงเตลิดเกินวิสัยให้เห็นในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการชุบมือเปิบสร้างความหายนะและความวิบัติทางนาฏกรรม หรือตอกย้ำทำให้คนเต้นกินรำกินด้วยกันชอกช้ำด้วยการเปิดอวดอวัยวะเพศท่ามกลางเสียงเพลง แสง สี หลังจากการเต้นร่ายรำบนเวทีเป็นที่เรียบร้อยแล้วมิหนำซ้ำยังไม่สาแก่ใจ ยังเดินทอดกายเข้าหาผู้ชม ซึ่งเสมือนสัตว์หื่นกระหายในกามหยิบจับได้ตามอัธยาศัย ปลดปล่อยความกระสันอยากของทั้งสองฝ่ายประหนึ่งเดรัจฉานกระทำเพื่อกันและกัน มิใช่แต่เพียงชาติตะวันตกเท่านั้นที่เจิดจ้าท้าความโสมม ทว่า เมืองไทยเองก็มากมีมากหลายแห่ง ซึ่งนี่ มิใช่วัฒนธรรมการแสดงหรือวัฒนธรรมบันเทิง เพราะคำว่าวัฒนธรรม หมายถึง การแสดงออกซึ่งสิ่งดีงามควรค่าแก่การสืบทอดสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น
ในแต่ละสังคมล้วนมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทั้งขนบ จารีต ประเพณี บรรทัดฐาน ธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงส่งผลกระทบต่อระบบการคิดการสร้างสรรค์งานนาฏกรรม หากการเลียนแบบหรือเอาอย่างวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อเป็นแบบในการสร้างงานก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งของกฎระเบียบของอีกสังคมหนึ่งได้ ทั้งนี้อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังจะเห็นได้จาก นาฏยศิลปินไทยที่ต้องการสร้างงานนาฏกรรมร่วมสมัย โดยต้องการแสดงพลังและความสวยงามของสรีระ กล้ามเนื้อโดยปราศจากเครื่องแต่งกายปกปิด หรือในลักษณะการเปลือยการเต้นรำ เน้นการแสดงออกในเรื่องราวของเพศวิถีคิดรูปแบบการนำเสนอออกมาให้เป็นอย่างตะวันตกที่มีเสรีภาพในการคิด การออกแบบ และการสร้าง หากแต่วัฒนธรรมไทยยังไม่สามารถหลุดโพ้นจากกรอบวิถีได้ ก็มิอาจสามารถรับงานนาฏกรรมร่วมสมัยได้ อาจำนำมาซึ่งกรณีพิพาทในลักษณะงานอนาจารของสังคมไทย แม้นว่านาฏยศิลปินจะยืนยันว่ามิได้ตั้งใจจะสื่อออกมาให้เป็นงานอนาจาร หรือศิลปินมองว่าสรีระเป็นเรื่องของความงาม  ทว่า การแสดงที่สามารถจัดขึ้นได้นั้น จะต้องไม่เป็นในแผ่นดินไทย
นาฏยอนาจารเป็นงานร่วมสมัยหรือ ?   นาฏกรรมแบบไร้อาภรณ์ปกคลุมสรีระเรือนร่างในสังคมไทยยังแฝงในการแสดงหลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงการล่วงละเมิดหรือกระทำผิดต่อความรู้สึกของสาธารณชน ในเรื่องของความบังควรกับธรรมเนียมปฏิบัติความสำคัญทางสังคมของมันวางอยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจสอบ (Censorship) และข้อบัญญัติทางกฎหมายผลงานใดก็ตาม ที่ได้รับการระบุว่าลามก หรือ อนาจาร โดยทั่วไปแล้วจะถูกกำจัดหรือปราบปรามเพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ส่อไปในทางนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์หรือโฆษณาที่มีการเปิดเผยทางเพศที่กระทำออกมาอย่างโจ่งแจ้ง หรือมีเนื้อหาสาระหยาบคาย ซึ่งความลามกอนาจารนั้น ก็เหมือนกับ "ความงาม" กล่าวคือ มันอยู่ในดุลยพินิจและสายตาของผู้ดู ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ โดยไม่อาจหลบเลี่ยงได้ และ "ความลามก-อนาจาร" นี้ยังเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพึงพอใจด้วย แต่ไม่นับเป็นความพอใจอย่างเดียวกับ "ความงาม" การตีความเกี่ยวกับนาฏกรรมสะท้อนความลามกนั้น มันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขนบประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งมีความลักลั่นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ การให้นิยามจึงความผิดแผกกันไปในแต่ละประเทศ เช่นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในโลกอาหรับ กับโลกตะวันตก

เสรีภาพในการสร้างสรรค์งาศิลป์บนแผ่นดินไทย มีคำว่า จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการคิด การเสนองานศิลป์ และมากมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งกลุ่มบุคคลและบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน สร้างสรรค์ พัฒนา ควบคุม ดูแลการผลิต การสร้างสรรค์ การรวมถึงการเผยแพร่ผลงาน ทว่า สังคมไทยยังปรากฏกลุ่มคนบางกลุ่มเห็นความลามก อนาจารเป็นศาสตร์และศิลป์สร้างมันขึ้นมาโดยขาดสำนึก แต่จะเป็นองค์กรใด ๆ ก็มิอาจสามารถเข้าถึงเพื่อตักเตือน หรือปราบปรามให้หมดราบคาบได้ ยิ่งสื่อประโครมปล่อยความโสโครกโสมมออกมามากเท่าใด สัญชาตญาณความโหยหาเรื่องเพศของคนก็ยิ่งเรียกร้องหา อยากรู้อยากเห็น แม้จะไม่ชมโดยตรงแต่ก็อดใจไม่ไหวที่อยากจะเห็นจะรู้ สัมผัสว่าเป็นจริงดังที่ข่าวเขาว่ากันหรือไม่ มิใช่เพียงแค่กระทรวง ซึ่งเป็นองค์กรระดับประเทศเท่านั้นที่มีบทบาทควบคุม ยับยั้ง นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคน หรือบุคคลที่มีบทบาททางสังคมลุกขึ้นมาพิพากษา ความเหมาะสม ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ชาติบ้านเมือง ปกป้องหรือแสดงความเห็น วิจารณ์ ติ ชม หรือประณาม ความเคลื่อนไหวด้านการแสดงของศิลปินมากหลายอาชีพ ทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องร้อง หรือลุกขึ้นมากล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเสมือนเป็นจำเลย สลับสับเปลี่ยนต่อปากต่อคำกันไปเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ผู้สร้างสรรค์ผลงานนาฏกรรม ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง ผู้ชม ผู้วิจารณ์ รวมถึงนักนาฏศิลป์ มีบทบาทหน้าที่อย่างไรนั้นสวรรค์มีตา ฟ้าเข้าใจ เมื่อใดที่ต้องข้องแวะกันและกันก็โปรดนึกถึงใจเขาใจเรา เรียนรู้ธรรมชาติวิถีของกันและกันบ้าง ไม่เอาอารมณ์ตนเป็นใหญ่ ไม่แปรกแยกพวกพ้อง เราสร้างเขาเสพย์ เขาชื่นชมเราสมหวัง เป็นกระจกส่องสะท้อนกันและกันอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของวัฏโลกา เป็นพลังขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน เติมเต็มสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งขาดหายให้ไหลลื่น แยกแยะผิดชอบชั่วดีด้วยการเป็นผู้มีการศึกษา คนเต้นรำนั้นไม่มีสิทธิ์ชื่นชม ตัวเองหรือแสดงอาการออนอกหน้าในเนื้องานของตัวเอง ผู้ชมกับผู้สร้างเป็นดั่งเงาของกันและกัน อาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งจะขาดกันเสียมิได้ในวัฒนธรรมบันเทิง
http://www.fineart.msu.ac.th/da/course/kop07.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น