วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย

ความนำ

                ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจทำให้มนุษย์เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเป็นแม่แบบในการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะ แขนงต่างๆ อันได้แก่ ทัศนศิลป์ ดนตรีและนาฏศิลป์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการจดจำ ทำให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดความสัมพันธ์กัน ระหว่างศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ และมนุษย์ ถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะอันประณีต งดงาม นาฏศิลป์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สร้างสรรค์สุนทรียะด้านจิตใจและอารมณ์ให้กับคนในสังคม และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สามารถสะท้อนภาพชีวิตและกิจกรรมของคนในสังคม เป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่งดงาม  ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทางด้านการแต่งกายของนักแสดง หรือภาษาที่ปรากฏอยู่ในบทร้องและบทละคร ศิลปะปรากฏในการออกแบบฉากประกอบการแสดง ดนตรีปรากฏในสื่อของเพลงหรือบทร้องของเพลงต่างๆ สถาปัตยกรรม  ปรากฏในรูปแบบของโรงละครซึ่งเป็นสถานที่แสดง  การแสดงนาฏศิลป์ไทย   

ไม่ว่าจะเป็นระบำ  รำ  ฟ้อน  และละคร  ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความรู้  ความสามารถ  หรือภูมิปัญญาของคนไทยในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน  ถ่ายทอดกันมายาวนานจนเป็นมรดก
ของชาติที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยสืบมาจนปัจจุบัน
                 จากที่กล่าวมาทำให้เห็นว่านาฏศิลป์ไทยเป็นที่แหล่งรวมศาสตร์และศิลป์ที่งดงาม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า  ซึ่งเยาวชนไทยทุกคนต้องช่วยกันรักษา สืบสานและยึดเป็นแนวปฏิบัติที่ดี   ดังนั้นการศึกษารูปแบบของนาฏศิลป์สร้างสรรค์ของไทย  จะต้องเข้าใจแหล่งที่มาและรูปแบบลักษณะ  กล่าวคือ  ศัพท์เบื้องต้นทางการเรียนนาฏศิลป์สร้างสรรค์จะต้องเข้าใจในความหมายของนาฏศิลป์  ที่มาของนาฏศิลป์ไทย  องค์ประกอบของการแสดงนาฏศิลป์ไทย  และประเภทของการแสดงนาฏศิลป์ไทยด้วย
                
ศัพท์เบื้องต้นของนาฏศิลป์ไทย

ศัพท์ที่ควรรู้จักและทำความเข้าใจก่อนการศึกษาเรื่องนาฏศิลป์สร้างสรรค์   จะต้องศึกษาความหมายของรูปศัพท์คำว่า นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์  ให้เข้าใจ  ซึ่งมีที่มาจากคำ 3 คำที่รวมกันคือ  นาฏ,  ศิลปะ,  และการสร้างสรรค์  ดังรายละเอียดกล่าวคือ
คำว่า  นาฏศิลป์  เป็นคำสมาส  แยกได้เป็น 2 คำ คือ  นาฏ และ  ศิลป์
นาฏ  หมายถึง   การร่ายรำและการเคลื่อนไหวไปมา โดยภาพรวมของคำว่า นาฏ ที่ควรรู้คือ
             นาฏย   ความหมาย    ตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน  (2546 : 576)   หมายถึง  เกี่ยวกับการฟ้อนรำ, เกี่ยวกับการแสดงละคร
             นาฏ    ความหมายตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึง  การเคลื่อนไหวอวัยวะ, นางละคร การฟ้อนรำ หรือ ความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ (2546 : 576)
นาฏกรรม   ความหมายตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 576) หมายถึง  การละครหรือการฟ้อนรำ 
นาฏยศาสตร์   หมายถึง   วิชาการเต้นรำ วิชาแสดงละคร บางครั้งก็เรียกว่า ศิลปะการละคร และฟ้อนรำ
             ศิลปะ    ความหมายโดยภาพรวมของคำว่า ศิลปะ ที่น่าสนใจคือศิลปะ   ตามนัยดั้งเดิมหมายถึง   งานช่างฝีมือ เป็นงานที่มนุษย์ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความประณีตวิจิตรบรรจง  ฉะนั้น งานศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่เป็น ผลงานที่มนุษย์ใช้ปัญญาความศรัทธาและความพากเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่

ศิลปะ, ศิลป์, ศิลปะ ความหมายตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 1101)  หมายถึง  การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ
ศิลปะ   หมายถึง   สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากธรรมชาติ นำมาดัดแปลง ทำให้เกิดความประณีต งดงาม และสำเร็จสมบูรณ์ด้วยทักษะ ความชำนาญในการปฏิบัติ
ศิลปะ มีความหมายกว้างขวางออกไปตามความคิดของแต่ละแขนงสาขา ซึ่งจะกำหนดแน่นอนไม่ได้  เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ   ในสมัยแรกๆ  ศิลปะหมายถึงการช่างทั่วๆไป
ต้องใช้ฝีมือปฏิบัติโดยอาศัยมือ ความคิด และความชำนาญในการที่จะประกอบวัตถุนั้นๆ  ให้บังเกิดความงดงามประณีต ละเอียดอ่อน  ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดีแก่ผู้ได้พบเห็น
                ศิลปะ  อาจหมายถึง  การแสดงออกเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์ การลอกเลียนแบบ  การถ่ายทอดความหมายต่างๆ  หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์เกิดจินตนาการในอันที่จะแสดงคุณค่าแห่งความงามในรูปแบบต่างๆ หรือได้พบเห็นจากธรรมชาติ  แล้วนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ขึ้น  ให้มีความวิจิตรละเอียดอ่อนซาบซึ้ง
ศิลปะนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะ  ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำศิลปะอันสูงส่งปรากฏแก่มวลมนุษย์  คือ  เป็นแรงบันดาลใจ   ศิลปะที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องให้ความเพลิดเพลิน  นิยมยินดีซาบซึ้งแก่ผู้ชม  รวมทั้งความคิด  สติปัญญา  ความงามด้านสุนทรียภาพ  (อมรา  กล่ำเจริญ. 2542 :1)
การสร้างสรรค์  ความหมายตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน  (2546 : 1136) เป็นคำกริยา  หมายถึง  สร้างให้มีให้เป็นขึ้น
การสร้างสรรค์  เป็นผลงานที่แสดงถึงความคิดอย่างมีอิสระ ที่คิดค้นใหม่ๆไม่ซ้ำแบบใครซึ่งต้องอาศัยทักษะ  เป็นนัยสำคัญทางด้านบวกที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตนเอง  เพราะไม่ว่าจะเป็นการคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือทำอย่างสร้างสรรค์ก็ดีล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ส่อแสดงถึงการเป็นคนที่มีคุณภาพ อันเป็นที่หวังที่ต้องการของสังคมทั้งสิ้นบุคคลที่ตระหนักถึงความสามารถในตนเองและพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นกับตนเองจะสามารถสร้างแนวทางปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ได้อย่างสำเร็จ
ดังนั้นความหมายโดยสรุปของคำว่า  นาฏศิลป์สร้างสรรค์  จึงหมายถึง  ผลงานที่ใช้ทักษะการคิดค้นใหม่ๆที่ไม่ซ้ำแบบใคร   โดยสร้างขึ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางศิลปะ  และการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  อย่างประณีต อ่อนช้อย จนเกิดความงดงามวิจิตรบรรจง    ซึ่งต้องสร้างสรรค์ให้สมบูรณ์และเหมาะสมตามองค์ประกอบของนาฏศิลป์  เพื่อให้การแสดงนาฏศิลป์มีคุณค่า  และสามารถสร้างความบันเทิง   ความเพลิดเพลินใจให้กับผู้ชมได้  (โกวิท   ประวาลพฤกษ์และคณะ 2545 : 88 )

ประเภทของการแสดงนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ คือการร่ายรำที่ได้ปรุงแต่งจากลีลาตามธรรมชาติให้เกิดความสวยสดงดงามโดยมีดนตรีเป็นองค์ประกอบในการร่ายรำ     นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะที่รวมเอาหลายสิ่งเข้าด้วยกันจึงแบ่งตามลักษณะของรูปแบบการแสดง เป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้  4  ประเภท ดังนี้
1. โขน  หมายถึง  เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่มีเอกลักษณ์คือ ผู้แสดงจะต้องสวมหัวที่เรียกว่าโขน และใช้ลีลาท่าทางการแสดงด้วยการเต้นไปตามบทพากย์ การเจรจาของ              ผู้พากย์และตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ด้วยวงปี่พาทย์ เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องต้น เรียกว่า การแต่งกายแบบ ยืนเครื่องมีจารีตขั้นตอนการแสดงที่เป็นแบบแผน นิยมจัดแสดงเฉพาะงานพิธีสำคัญ ได้แก่ งานพระราชพิธีต่าง ๆ

ละครในเรื่องอิเหนา ตอนลมหอบ
                                                     
ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์
                                                         
การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์
                                                              

2. ละคร หมายถึง  เป็นศิลปะการร่ายรำที่เล่นเป็นเรื่องราว มีพัฒนาการมาจากการเล่านิทาน ละครมีเอกลักษณ์ในการแสดงและการดำเนินเรื่องด้วยกระบวนลีลาท่าทาง เข้าบทร้อง ทำนองเพลงและเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์มีแบบแผนการเล่นที่เป็นทั้งของชาวบ้านและของหลวงที่เรียกว่า ละครโนราชาตรี ละครนอกและละครใน เรื่องที่นิยมนำมาแสดงคือ พระสุธน สังข์ทอง คาวี อิเหนา อุณรุท นอกจากนี้ยังมีละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่อีกหลายชนิด การแต่งกายของละครจะเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า การแต่งกายแบบยืนเครื่อง นิยมเล่นในพิธีสำคัญและงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์

                                                                                     ละครในเรื่องอิเหนา

                                                                         ละครในเรื่องอิเหนา ตอนย่าหรันตามนกยูง
3. รำและระบำ  หมายถึง  เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำประกอบเพลงดนตรีและบทขับร้องโดยไม่เล่นเป็นเรื่องราว ในที่นี้หมายถึงรำและระบำที่มีลักษณะเป็นการแสดงแบบมาตรฐาน ซึ่งมีความหมายที่จะอธิบายได้พอสังเขปดังนี้
    3.1  รำ  หมายถึง  ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2  คน  เช่น การรำเดี่ยว การรำคู่ การรำอาวุธ เป็นต้น มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้าทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ โดยเฉพาะการรำคู่จะต่างกับระบำ เนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะสำหรับผู้แสดงนั้น ๆ  เช่น  รำเพลงช้า เพลงเร็ว  รำแม่บท  รำเมขลา รามสูร  เป็นต้น
   3.2  ระบำ  หมายถึง  ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกัน กระบวนท่าร่ายรำคล้ายคลึงกัน ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้าทำนองเพลงดนตรี ซึ่งระบำแบบมาตรฐานมักบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ การแต่งกายนิยมแต่งกายยืนเครื่องพระ นาง หรือ แต่งแบบนางในราชสำนัก เช่น ระบำสี่บท ระบำกฤดาภินิหาร ระบำฉิ่ง

                                                                                  การแสดงภาคเหนือ ฟ้อนแพน


ภาพแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภาคเหนือ


                                                                                             ระบำศรีวิชัย

4. การแสดงพื้นเมือง  หมายถึง  เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีทั้งรำ  ระบำ หรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนตามวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ในเริ่มแรกนั้นเข้าใจว่าคงปรากฏในรูปแบบ  การละเล่น หมายถึง  การเล่นดนตรี  การเล่นเพลง การเล่นรำ ส่วนการเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่  2  คนขึ้นไป เรียกว่า มหรสพหรือศิลปะการแสดงพื้นเมือง  ซึ่งหมายถึง สิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ  ต่อมามีวิวัฒนาการเป็นการละเล่นพื้นเมือง หมายถึง การแสดงใด ๆ อันเป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นและเล่นกันใน ระหว่างประชาชน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล การแสดงต้องเป็นไปอย่างมีวัฒนธรรม มีความเรียบร้อย ใช้ถ้อยคำสุภาพ แต่งกายสุภาพถูกต้องตามความนิยมและวัฒนธรรม เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น สถานที่ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับโอกาสที่จะแสดง ซึ่งการละเล่นพื้นเมือง จะไม่เป็นอาชีพหรือเพื่อหารายได้ จะมีดนตรีหรือการขับร้อง หรือการฟ้อนรำประกอบก็ได้  การละเล่นพื้นเมือง  แบ่งเป็น 2  ประเภท  คือ  เพลงพื้นเมือง  และการแสดงพื้นเมือง  ดังนี้
   4.1  เพลงพื้นเมือง  หมายถึง  เพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ ประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลง ไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดในท้องถิ่นของตน นิยมร้องเล่นกันในเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุมรื่นเริง เช่น ตรุษสงกรานต์  ขึ้นปีใหม่  ทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า  และในการลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นการเล่นที่สืบต่อกันมาเนื้อความของเพลงพื้นเมืองที่นิยมร้องกัน มักจะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ปะทะคารมกัน ในด้านสำนวนโวหาร สิ่งสำคัญของการร้องคือ การด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เกิดความสนุกสนานทั้งสองฝ่าย
   4.2   การแสดงพื้นเมือง  หมายถึง  การละเล่นที่มีการแสดงการร่ายรำ มีเพลงดนตรีประกอบ   ที่ได้วางเป็นแบบแผน และนิยมเล่นหรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนแพร่หลายการแสดงพื้นเมือง อาจเกิดจากการบูชาบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์   เช่น   ขอให้สิ่งที่ตนนับถือประทานสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ปรารถนา  นอกจากนี้ ก็เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริง  การแสดงพื้นเมืองสามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคได้  4  ภาค   ดังนี้
4.2.1  การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เป็นศิลปะการรำ และการละเล่นหรือที่
นิยมเรียกกันทั่วไปว่าฟ้อนการฟ้อนเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนา และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ เช่น  ชาวไต  ชาวลื้อ  ชาวยอง  ชาวเขิน  เป็นต้น   ลักษณะของการฟ้อน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ แต่ยังคงมีการรักษาเอกลักษณ์ทางการแสดงไว้คือมีลีลาท่ารำที่แช่มช้า อ่อนช้อยมีการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงามประกอบกับการบรรเลงและขับร้องด้วยวงดนตรีพื้นบ้าน เช่น  วงสะล้อ ซอ ซึง  วงปู่เจ่  วงกลองแอว์  เป็นต้น โอกาสที่แสดงมักเล่นกันในงานประเพณี หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

                 ลักษณะชุดการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือที่ควรรู้จัก  ได้แก่  ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ตบมะผาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ การแสดง 3 แบบที่ต่อเนื่องกันเป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวล้านนา ฟ้อนสาวไหม ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนหวี่ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนโต ฟ้อนกิงกะหล่า (กินรา) ฟ้อนกำเบอ (ฟ้อนผีเสื้อ) มองเซิง ฟ้อนไต ฟ้อนน้อยใจยา ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนผีมดผีเม็ง ฟ้อนผีฟ้า ระบำเก็บใบชา ระบำชาวเขา ฯลฯ
4.2.2  การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชน
ชาวพื้นเมืองภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีและเพื่อความบันเทิงสนุกสนานเป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศกาลฤดูเก็บเกี่ยว  เช่น การเล่นเพลงเกี่ยวข้าว  เต้นกำรำเคียว รำโทนหรือรำวง รำเถิดเทิง  รำกลองยาว  เป็นต้น มีการแต่งกายตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น และใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน  เช่น  กลองยาว  กลองโทน ฉิ่ง  ฉาบ  กรับ  และโหม่ง
                 ลักษณะชุดการแสดงพื้นเมืองภาคกลางที่ควรรู้จัก  ได้แก่  รำสีนวล รำเชิญพระขวัญ รำแม่ศรี ระบำชาวนา  ระบำกลอง  รำเถิดเทิง  ระบำฉิ่ง  ระบำดอกบัว  ระบำชุมนุมเผ่าไทย  ระบำกรับ  ระบำเกี่ยวข้าว  รำแม่โพสพ  รำแม่ศรี  และระบำฝัดข้าว ฯลฯ
                       4.2.3  การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นบ้านภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  แบ่งได้เป็น  2  กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ๆ  คือ กลุ่มอีสานเหนือ   มีวัฒนธรรมไทยลาวซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า   เซิ้ง และหมอลำ  เช่น  เซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งสวิง  ฟ้อนภูไท  ลำกลอนเกี้ยว  ลำเต้ย  ซึ่งใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านประกอบ ได้แก่ แคน พิณ ซอ กลองยาวอีสาน ฉิ่ง ฉาบ ฆ้องและกรับ ภายหลังเพิ่มเติมโปงลางและโหวดเข้ามาด้วย ส่วนกลุ่มอีสานใต้ได้รับอิทธิพลไทยเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า เรือม หรือ เร็อม เช่น เรือมลูดอันเร หรือรำกระทบสาก รำกระโน็บติงต๊อง หรือระบำตั๊กแตนตำข้าว รำอาไย หรือรำตัด หรือเพลงอีแซวแบบภาคกลาง วงดนตรีที่ใช้บรรเลงคือ วงมโหรีอีสานใต้ มีเครื่องดนตรีคือ ซอด้วง   ซอตรัวเอก   กลองกันตรึม พิณ ระนาดเอกไม้ ปี่สไล กลองรำมะนาและเครื่องประกอบจังหวะ การแต่งกายประกอบการแสดงเป็นไปตามวัฒนธรรมพื้นบ้าน ลักษณะที่รำและท่วงทำนองดนตรีในการแสดงค่อนข้างกระชับ รวดเร็วและสนุกสนาน
                 ลักษณะชุดการแสดงพื้นเมืองภาคอีสานที่ควรรู้จัก  ได้แก่ ฟ้อนภูไท เซิ้งบ้องไฟ เซิ้งแห่-นางแมว เซิ้งกระติ๊บข้าว เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งกุบ เรือมอันเร เซิ้งตังหวาย เซิ้งแหย่ไข่มดแดง เซิ้งสราญ ดึงครกดึงสาก ฯลฯ
         4.2.4  การแสดงพื้นเมืองภาคใต้  เป็นศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นเมืองภาคใต้อาจแบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมได้  2  กลุ่ม คือ วัฒนธรรมไทยพุทธ ได้แก่ การแสดงโนรา   หนังตะลุง  เพลงบอก  เพลงนา  และวัฒนธรรมไทยมุสลิม  ได้แก่ รองเง็ง  ซำเปง  มะโย่ง
(การแสดงละคร) ลิเกฮูลู (คล้ายลิเกภาคกลาง) และซิละ มีเครื่องดนตรีประกอบที่สำคัญ เช่น กลองโนรา   กลองโพน  กลองปืด  กลองโทน  ทับ  กรับพวง  โหม่ง  ปี่กาหลอ  ปี่ไฉน  รำมะนา ไวโอลิน อัคคอร์เดียน  ภายหลังได้มีระบำที่ปรับปรุงจากกิจกรรมในวิถีชีวิต ศิลปาชีพต่างๆ เช่น ระบำร่อนแร่ กรีดยาง ระบำปาเต๊ะ เป็นต้น
                 ลักษณะชุดการแสดงพื้นเมืองภาคใต้ที่ควรรู้จัก  ได้แก่  ระบำปั้นหม้อ   ระบำทำนา   ระบำทอผ้า-กะยอ   ระบำแกะหนังตะลุง  ระบำเครื่องถม ระบำลิเพา ระบำทอผ้าพุมเรียง ระบำปาดตาล ระบำสานจูด ระบำนางดาน ระบำนารีศรีนคร ระบำนกกรงหัวจุก ระบำนกเขา ฯลฯ
รูปแบบการแสดงพื้นเมืองทั้งสี่ภาคนั้น  สามารถแบ่งตามลักษณะของการนำเสนอได้  เป็น 
2  ลักษณะ  คือรูปแบบของมหรสพ หมายถึง  การแสดงหรือการละเล่นที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ  ที่ผูกเรื่องการแสดงเป็นเรื่อง เช่น หนังตะลุง โนรา  หมอลำ  แอ่วเคล้าซอ  เป็นต้น
และการแสดงเบ็ดเตล็ด   หมายถึง  การแสดงที่เป็นชุดร่ายรำ  ระบำ  รำ ฟ้อนต่าง ๆ ทุกภูมิภาคที่มุ่งความบันเทิง  ความสวยงามของชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  และนักแสดง

                                                                          ลักษณะการแต่งกายภาคเหนือ

                                                                                           โนราห์  การแสดงภาคใต้ 

                                                                                  ทอผ้าวิถีชีวิตของชาวภาคเหนือ

การทำพุ่มผ้าป่าวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

                                                                                การแต่งกายรำมโนราห์บูชายันต์
 



องค์ประกอบของนาฏศิลป์สร้างสรรค์
                 นาฏศิลป์ทุกประเภทต่างก็มีองค์ประกอบและเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ที่สามารถดัดแปลงท่าทางธรรมชาติให้เป็นศิลปะงดงามร่ายรำให้เข้ากับทำนองการขับร้องและดนตรี แสดงออกทางอารมณ์ด้วยลีลาอันอ่อนช้อย      การประดิษฐ์ท่ารำ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคิดสร้างสรรค์นาฏศิลป์โดยเน้นการเคลื่อนไหวของร่างกายและการใช้ภาษาท่า  การตีบทตามคำร้องหรือบทเพลง เพื่อสื่อความหมายแทนคำพูดในรูปแบบของการแสดง   ดังนั้นก่อนที่จะมาเป็นนาฏศิลป์ไทยได้  ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้
                1. การฟ้อนรำและท่วงทีลีลา    เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของอวัยวะร่างกายของนักแสดงสื่อออกมาในลักษณะต่าง ๆ เช่น  สื่อแทนคำพูด  แทนอากัปกิริยาที่กำลังปฏิบัติอยู่   เป็นต้น  เป็นการประดิษฐ์กิริยาท่าทางของมนุษย์ให้สวยงามเกินกว่าปกติในการแสดงออก  เป็นสื่อระหว่างผู้แสดงและผู้ชม    การจัดกระบวนท่าจะเป็นแบบมีเนื้อร้อง หรือไม่มีเนื้อร้องก็ตาม  ต้อง สามารถสื่อความหมายท่วงท่าลีลาเหล่านั้น  โดยต้องสอดคล้องกับเนื้อร้องและทำนองเพลงด้วย  เนื่องจากการแสดงลีลาท่ารำของนาฏศิลป์ไทยต้องประกอบด้วยการใช้ภาษาท่า   การใช้ภาษานาฏศิลป์   หรือการรำเพลงหน้าพาทย์  เพื่อบ่งบอกเรื่องราว    ภาษานาฏศิลป์ที่ใช้ประกอบการแสดง  เป็นท่ารำที่นำมาจากท่ารำแม่บท และเชื่อมท่ารำให้เป็นกระบวนท่าจากท่ารำในเพลงช้า เพลงเร็ว  การแสดงจึงจะเกิดความวิจิตรงดงามตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย
                2. จังหวะ เป็นส่วนย่อยของบทเพลงที่ดำเนินไปเป็นระยะและสม่ำเสมอการฝึกหัด
นาฏศิลป์ไทย  จำเป็นต้องจังหวะเป็นพื้นฐานในการฝึกหัดเพราะ  จังหวะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ  และมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน   หากผู้เรียนมีทักษะในการฟังจังหวะแล้ว  ก็สามารถรำได้สวยงาม    แต่ถ้าผู้เรียนไม่เข้าใจจังหวะ   ก็จะทำให้รำไม่ถูกจังหวะหรือเรียกว่ารำคร่อมจังหวะ  หรือ บอดจังหวะ  ทำให้การรำนั้นไม่สวยงามและถูกต้อง
                                3. เนื้อร้องและทำนองเพลง  การแสดงลีลาท่ารำแต่ละครั้งจะต้องสอดคล้องตามเนื้อร้องและทำนองเพลง ทั้งนี้เพื่อบอกความหมายของท่ารำ  และทำนองเพลง ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในการแสดงได้ตามเนื้อเรื่อง ตลอดจนสามารถสื่อความหมายให้กับผู้ชมเข้าใจตรงกันได้   ในการตีบทหรือแสดงท่าทางจะต้องตรงความหมายของเนื้อร้องและทำนองเพลง  ด้วยท่ารำที่หลากหลาย   ตามหลักนาฏศิลป์ไทยการตีบทจะไม่เท้าและมือซ้ำ   ดังนั้นผู้แสดงต้องมีความชำนาญะในการรำจึงจะสามารถรำได้สวยงามและสอดคล้องตามเนื้อร้องและทำนองเพลง
                                4. การแต่งกาย  ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยต้องมีความประณีตวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง   ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายโขน ละคร หรือการแต่งกายประเภทระบำ  รำ  ฟ้อนก็ตาม   จะต้องมีความสอดคล้องกับความหมายของเนื้อเพลง  ตามโอกาสที่แสดงระบำนั้นๆ   หรือบ่งบอกเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน
                                5. เครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดง   การแสดงนาฏศิลป์ จำเป็นอย่างยิ่งที่
จะต้องใช้เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบการแสดง  ซึ่งต้องสอดคล้องตามลักษณะและประเภทของการแสดง  ทำนองเพลง  สำเนียงการออกภาษา  ต้องสอดคล้องตามเชื้อชาติ  ดนตรีก็เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการช่วยเสริมให้การแสดงสมบูรณ์ และสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการแสดงให้สมจริงยิ่งขึ้นด้วย
                               6. การแต่งหน้า  มีความสำคัญต่อผู้แสดงมาก เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้แสดง สวยงาม และอำพรางข้อบกพร่องของใบหน้าของผู้แสดงได้   นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้วิธีการแต่งหน้าเพื่อบอกวัย บอกลักษณะเฉพาะของตัวละครได้ เช่น แต่งหน้าคนหนุ่มให้เป็นคนแก่ แต่งหน้าให้ผู้แสดงเป็นตัวตลก เป็นต้น
                                7. อุปกรณ์การแสดง   แสง  เสียงที่ใช้ประกอบการแสดง   การแสดงนาฏศิลป์ไทยบางชุดต้องมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงละครด้วย  อุปกรณ์แต่ละชนิดที่ใช้ประกอบการแสดงจะต้องสมบูรณ์ สวยงาม และสวมใส่ได้   อุปกรณ์ประกอบฉาก  แสง  เสียงที่ใช้ประกอบการแสดง   มีส่วนช่วยให้การแสดงสมบูรณ์ผู้ชมเกิดความประทับใจในการแสดง  และมองเห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ไทยมากยิ่งขึ้น
  ทั้งนี้นาฏศิลป์ไทยที่งดงามมีคุณค่า จะต้องมีสุนทรียภาพอยู่ในการแสดง ซึ่งประกอบด้วย
กลอนไพเราะ   แต่งกายงาม   รำงาม   เพลงไพเราะ   ฉากที่ตระการและประทับใจ

สรุป

                    นาฏศิลป์ นอกจากจะแสดงความเป็นอารยะของประเทศแล้ว ยังเป็นเสมือนแหล่งรวมศิลปะและการแสดงหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอด  นาฏศิลป์สร้างสรรค์  เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยปัญญา  มีความประณีตงดงาม  มีแบบแผนของการฟ้อนรำ ให้ความบันเทิง โน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม   ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย  เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ที่มาของนาฏศิลป์ไทยได้มีนักวิชาการอ้างถึงความน่าจะเป็น พอสรุปได้ว่านาฏศิลป์เกิดขึ้นเนื่องจากต้องการแสดงอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ   ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและการเซ่นสรวง-บูชา และการรับอารยะธรรมจากประเทศอินเดีย  เช่นด้านภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปะการละคร ได้แก่ ระบำ ละครและโขน
                   วัตถุประสงค์ในการสรรสร้างนาฏศิลป์อาจมาจากหลายสาเหตุ  อาทิ   จัดทำขึ้นเพื่อการสื่อสาร   เพื่อประกอบพิธีกรรม    เพื่องานพิธีการที่สำคัญ   เพื่อความบันเทิงใจ   และเพื่อการเผยแพร่อนุรักษ์สืบสาน  การแสดงนาฏศิลป์ไทยสามารถแบ่งประเภท ตามลักษณะของรูปแบบการแสดง เป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้   4  ประเภท คือ  โขน  ละคร  รำและระบำ  และการแสดงพื้นเมือง  การแสดงทุกประเภทที่กล่าวล้วนมีรูปแบบของการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกันตามระเบียบวิธีปฏิบัติ  ตลอดทั้งองค์ประกอบจึงทำให้แยกประเภทของการแสดงได้อย่างชัดเจน  ในการแสดงนาฏศิลป์แต่ละชุดจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของการแสดงซึ่งได้แก่ ท่วงทีลีลา   จังหวะ  เนื้อร้องและทำนองเพลง   การแต่งกาย  เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในการแสดง  การแต่งหน้า  อุปกรณ์การแสดงอื่นๆ รวมทั้งด้านสุนทรียภาพ ได้แก่ กลอนไพเราะ  แต่งกายงาม   รำงาม  เพลงไพเราะ   ฉากที่ตระการตาเหล่านี้  จึงจะทำให้การแสดงมีคุณค่าและประทับใจมากยิ่งขึ้น
                      การแสดงนาฏศิลป์ได้วิวัฒนาการพัฒนาขึ้นตามลำดับ  และมีความสวยงามประณีตวิจิตรบรรจง  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญของชาติบ้านเมือง  เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และภาคภูมิใจของชาติไทยสืบทอดมาจนทุกวันนี้


2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20 เมษายน 2554 เวลา 01:39

    น่าสนใจมากครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ16 กรกฎาคม 2554 เวลา 20:35

    อยากได้ประวัติความเป็นมาของระบำ ค่ะ

    ตอบลบ